Sunday, January 13, 2013

ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นอกจากนั้น คือ

- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ ที่มีวัคซีนเมื่ออยู่ในถิ่นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบบางชนิด วัคซีนโรคคางทูม และ วัคซีนโรคอีสุกอีใส เป็นต้น

Saturday, January 12, 2013

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรงไหม?


โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรครุนแรง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สูงกว่าการติดเชื้อไวรัสมาก ซึ่งประมาณ 25-30% ของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียมักเสียชีวิต แต่ไม่ค่อยพบการเสียชีวิตจากติดเชื้อไวรัส

มีผลข้างเคียงจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียง ที่พบได้จากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีผลต่อการหายใจ หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ นอกจากนั้น ในระยะยาวตลอดชีวิต คือ ชัก หูหนวก ตาบอด เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต พูดไม่ชัด มีปัญหาทางด้านสมอง เช่น มีอารมณ์แปรปรวน ปัญหาด้านความคิด และความจำ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็ก เมื่อเติบ โตขึ้น สติปัญญามักด้อยกว่าเกณฑ์

รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ เช่น เมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย คือ การให้ ยาปฏิชีวนะ ตามชนิดของเชื้อ และการรักษาประคับประ คองตามอาการ ส่วนเมื่อเกิดจากติดเชื้อไวรัส เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาที่ฆ่าไวรัสได้ ส่วนเมื่อเกิดจากเชื้ออื่นๆ การรัก ษา คือ การให้ยาฆ่าเชื้อนั้นๆ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาป้องกันการชัก และการให้น้ำเกลือเมื่ออาเจียนมาก กินไม่ได้ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการติดเชื้อ อุบัติเหตุ การตรวจร่างกาย แต่ที่สำคัญ คือ เจาะหลัง ตรวจน้ำไขสันหลัง และตรวจเชื้อจากน้ำไขสันหลัง นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ตามอา การผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ เพื่อแยกชนิดของเชื้อไวรัส เป็นต้น

Friday, January 11, 2013

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด จะมีอาการเหมือน กัน แต่อาจแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับอายุ

ในเด็กแรกเกิดอายุไม่เกิน 1 เดือนอาการที่พบบ่อย คือ

- มีไข้ มักมีไข้สูง แต่อาจมีไข้ต่ำได้
- เด็กกระสับกระส่าย ร้องโยเย ร้องไห้เสียงสูง
- ไม่ดูดนม อาจมีอาเจียน
- อาจชัก
- บริเวณกระหม่อม โป่งนูน จากการเพิ่มความดันในสมอง

ในเด็กวัยอื่นและคนทั่วไปอาการที่พบบ่อย คือ

- ไข้สูง ปวดศีรษะมาก คอแข็ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ตากลัวแสง
- อาจชัก
- ซึม มึนงง สับสน และอาจหมดสติ

ในผู้สูงอายุ และคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำอาการที่พบได้บ่อย คือ

- ไม่ค่อยมีไข้ อาจมีเพียง สับสน มึนงง และง่วงซึม

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอะไรบ้าง?


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

- ในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็ก (โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 5 ปีลงมา) ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคเอดส์
- การอยู่กันอย่างแออัด เช่น ในชุมชนแออัด และในค่ายทหาร
- ผู้ติดสุรา เพราะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- ผู้ป่วยผ่าตัดม้าม เช่น ในการรักษาโรคธาลัสซีเมีย เพราะม้ามเป็นอวัยวะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- ผู้ป่วยผ่าตัดทางเดินน้ำไขสันหลัง เช่น ในผู้ป่วยทางเดินน้ำไขสันหลังอุดตันจากมะเร็ง จึงผ่าตัดระบายน้ำไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง เชื้อโรคจากช่องท้องจึงเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และเข้าสู่สมองจากทางระบายนี้ได้ง่าย
- ผู้ป่วยโรคหู หรือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- คนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน