Tuesday, January 8, 2013

การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยการตรวจเลือดและภาพถ่ายรังสี

ผู้ป่วยที่ถูกสงสัยว่าจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้การอักเสบ (เช่น ซีรีแอ็กทีฟโปรตีน, การตรวจนับเม็ดเลือด) รวมถึงการเพาะเชื้อจากเลือด

การตรวจที่สำคัญที่สุดในการยืนยันหรือแยกการวินิจฉัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบคือการวิเคราะห์น้ำหล่อสมองไขสันหลังที่ได้จากการเจาะหลัง. อย่างไรก็ดีการเจาะหลังนั้นห้ามทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันในกะโหลกศีรษะสูงหรือมีก้อนในสมอง ซึ่งก้อนนี้อาจเป็นเนื้องอกหรือฝีก็ได้ เนื่องจากหากเจาะหลังไปอาจทำให้สมองถูกกดทับ หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะมีก้อนหรือมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง (เช่น ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ มีปัญหาภูมิคุ้มกันอยู่เดิม มีอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ หรือมีหลักฐานจากการตรวจร่างกายแสดงถึงการมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง) มีคำแนะนำว่าควรได้รับการตรวจซีทีหรือเอ็มอาร์ไอก่อนที่จะเจาะหลัง ซึ่งผู้ป่วยจำนวนนี้นับเป็น 45% ของผู้ป่วยผู้ใหญ่ทั้งหมด หากจำเป็นจะต้องทำซีทีหรือเอ็มอาร์ไอก่อนเจาะหลัง หรือน่าจะเจาะหลังยาก แนวทางเวชปฏิบัติแนะนำว่าควรให้ยาปฏิชีวนะก่อนเพื่อไม่ให้การรักษาต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะหากคาดว่าจะใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ส่วนใหญ่ซีทีและเอ็มอาร์ไอจะทำในระยะหลังๆ เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบขั้นรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามระดับอิเล็กโตรลัยต์ในเลือดเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เช่น ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำพบได้บ่อยในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจากทั้งภาวะขาดน้ำ ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะ (SIADH) หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำมากเกินไปได้

0 comments:

Post a Comment