Monday, January 7, 2013

เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้นแตกต่างออกไปตามช่วงอายุ ในทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี เชื้อส่วนใหญ่เป็น สเตร็ปโตคอคคัส กลุ่ม B (ชนิดย่อยที่ 3 ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในช่องคลอด) และเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น เอสเคอริเชีย โคไล (ชนิดที่มีแอนติเจน K1) ลิสทีเรีย โมโนซัยโตจีเนส (ซีโรทัยป์ IVb) ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในทารกแรกเกิดและเกิดการระบาดได้ เด็กโตขึ้นมาส่วนใหญ่ติดเชื้อ ไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส (เมนิงโกคอคคัส), สเตรปโตคอคคัส นิวโมนิอี (ซีโรทัยป์ 6, 9, 14, 18 และ 23) และฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ ชนิด B ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนในผู้ใหญ่นั้น เชื้อ N. meningitidis และ S. pneumoniae เป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียรวมกัน 80% โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับ L. monocytogenes อัตราการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสเริ่มน้อยลงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีการนำวัคซีนนิวโมคอคคัสเข้ามาใช้

การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะทำให้มีโอกาสที่แบคทีเรียในโพรงจมูกจะเข้าไปถึงชั้นเยื่อหุ้มสมองได้ เช่นเดียวกับผู้ที่เคยทำทางเชื่อมเนื้อสมองหรือสิ่งอื่นที่ใกล้เคียงจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ในกรณีเช่นนี้เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสแตฟฟิลโลคอคคัสรวมถึงซูโดโมแนสและแบคทีเรียกรัมลบชนิดแท่งอื่นๆ เชื้อกลุ่มเดียวกันนี้พบบ่อยเช่นกันในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อบริเวณศีรษะและคอเช่นหูชั้นกลางอักเสบหรือปุ่มกระดูกกกหูอักเสบอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบตามมาได้แม้ไม่มากนัก ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดฝังประสาทหูชั้นในเทียมเพื่อรักษาภาวะสูญเสียการได้ยินมีความเสี่ยงที่จะเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส พบได้บ่อยในประเทศที่มีการระบาดของวัณโรคเช่นประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ป่วยเอดส์

การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียซ้ำๆ อาจเป็นผลจากการมีความผิดปกติของโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง หรือเป็นผลจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ความผิดปกติของโครงสร้างทำให้เกิดมีทางเชื่อมต่อระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกกับระบบประสาท สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดเยื่อหุ้มสมองเป็นซ้ำคือการมีกะโหลกศีรษะแตก โดยเฉพาะตำแหน่งฐานกะโหลกศีรษะหรือการมีรอยแตกเชื่อมต่อกับโพรงอากาศหรือพีทรัสปิรามิด บททบทวนวรรณกรรมรายงานกรณีผู้ป่วย 363 รายที่เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นซ้ำพบว่า 59% มาจากความผิดปกติของโครงสร้าง 36% มาจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่นภาวะพร่องคอมพลีเมนท์ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบซ้ำจากเชื้อเมนิงโกคอคคัสเป็นพิเศษ) และ 5% เกิดจากการมีการติดเชื้อบริเวณข้างเคียงเยื่อหุ้มสมองที่ยังคงเป็นอยู่ต่อเนื่อง

0 comments:

Post a Comment