อาการที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ได้แก่อาการปวดศีรษะ พบบ่อยถึงเกือบ 90% ของผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย รองลงมาได้แก่อาการคอแข็งเกร็ง อาการสามอย่างที่มักใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยได้แก่อาการคอแข็งเกร็ง ไข้สูงเฉียบพลัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิต อย่างไรก็ดีผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียเพียง 44-46% เท่านั้นที่มีอาการครบทั้งสามอย่างนี้ หากไม่มีอาการใดๆ เลยในสามอย่าง โอกาสเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีน้อยมาก อาการแสดงอื่นที่มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้แก่อาการทนแสงจ้าไม่ได้และทนเสียงดังไม่ได้ ผู้ป่วยเด็กเล็กมักไม่มีอาการดังที่กล่าวมา โดยอาจมีอาการเพียงดูไม่สบายหรือดูหงุดหงิดก็ได้ ทารกที่อายุไม่เกิน 6 เดือนอาจพบมีกระหม่อมโป่งตึงได้ อาการอื่นๆ ที่อาจใช้แยกโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบออกจากภาวะอื่นที่ไม่อันตรายเท่าได้ในเด็กเล็กได้แก่ อาการปวดขา แขนขาเย็น และสีผิวผิดปกติ
การมีคอแข็งเกร็งนั้นพบได้ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียที่เป็นผู้ใหญ่สูงถึง 70% อาการแสดงอื่นของภาวะระคายเคืองเยื่อหุ้มสมองนั้น เช่น มีอาการแสดงเคอร์นิกหรือบรุดซินสกี โดยอาการแสดงเคอร์นิกตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แพทย์จับขาให้สะโพกและเข่าของผู้ป่วยงอ 90 องศา แล้วเหยียดขาออก การที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดเมื่อแพทย์พยายามจับขาให้เหยียดออกจนเกร็งต้านคือผลการตรวจอาการแสดงเคอร์นิกเป็นบวก ส่วนอาการแสดงบรุดซินสกีนั้นคือมือแพทย์จับคอผู้ป่วยก้มลงในท่านอนแล้วผู้ป่วยมีการงอสะโพกและเข่าขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ถึงแม้อาการแสดงทั้งสองนี้จะถูกใช้ในการคัดกรองเยื่อหุ้มสมองอักเสบอยู่โดยทั่วไป แต่ความไวของการตรวจทั้งสองยังมีข้อจำกัดมาก ทั้งนี้การตรวจทั้งสองมีความจำเพาะต่อภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบสูง น้อยมากที่จะพบในโรคอื่น การตรวจอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "การทำท่าให้กระตุกโดยเน้น" (jolt accentuation maneuver) ช่วยในการตรวจว่าผู้ป่วยที่มีไข้และปวดศีรษะนี้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยส่ายหน้าเร็วๆ ถ้าทำแล้วไม่มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น แสดงว่ามีโอกาสน้อยที่จะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis เรียกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกคอคคัสหรือไข้กาฬหลังแอ่น มีลักษณะแตกต่างจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอื่นโดยมีผื่นจุดเลือดที่กินบริเวณกว้างอย่างรวดเร็วนำมาก่อนอาการอื่นๆ ผื่นนี้จะมีจุดเลือดออกสีแดงหรือม่วงขนาดเล็กและมีจำนวนมากอยู่บนตัว ขา เยื่อบุ ตาขาว บางครั้งพบที่ฝ่ามือฝ่าเท้า กดแล้วไม่จางลง ถึงแม้จะไม่ได้พบในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกคอคคัสทุกคนแต่ก็ค่อนข้างมีความจำเพาะกับโรค อย่างไรก็ดียังสามารถพบในเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นได้ ข้อชวนสงสัยเชื้อที่เป็นสาเหตุอื่นๆ เช่น อาการของโรคมือ เท้า ปาก และเริมอวัยวะเพศ มีความสัมพันธ์กับเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสหลายๆ ชนิด
0 comments:
Post a Comment